สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายร่วมกับสถาบันพลาสติก จัดสัมมนา “ทิศทางการพัฒนาและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพ” เพื่อยกระดับผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ

     เพื่อพัฒนาการดำเนินงานบนแนวคิด BCG Model ซึ่งเป็นโมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวในยุคปัจจุบัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) พร้อมผลักดันส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และพร้อมพัฒนาสิ่งต่างๆ สู่ความยั่งยืนในระยะยาว การนำอ้อยหรือผลผลิตจากอ้อย มาเป็นวัตถุดิบนำร่องของอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของอ้อยและน้ำตาลทรายได้อีกด้วย

 

     เมื่อ 11 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันพลาสติกได้จัดสัมมนา “ทิศทางการพัฒนาและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพ” โดยมี  นายศิวะ โพธิตาปนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)) เป็นประธานในเปิดสัมมนา และ นายคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก (สถาบันพลาสติก) ได้กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของการจัดสัมมนา สำหรับการสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับผู้ที่สนใจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยการพัฒนาพลาสติกชีวภาพของภาคการศึกษา แนวโน้มการวิจัย การพัฒนา และความต้องการในอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมไปถึงมาตรฐานของพลาสติกชีวภาพ นอกจากนี้ในการสัมมนายังมีการกล่าวถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรม ชีวเภสัชภัณฑ์, กลุ่มเคมีชีวภาพ, กลุ่มพลาสติกชีวภาพ ถือเป็นการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากร นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการพัฒนา และการผลิตใน อุตสาหกรรมชีวภาพได้เป็นอย่างมาก

 

     นอกจากนี้ภายในงานยังได้มีการแสดงผลิตภัณฑ์ที่มีการนำส่วนผสมของอ้อยและน้ำตาล มาเผยแพร่ให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้ากันเปื้อนรองเตียงแอนตี้แบค ใช้ครั้งเดียวทิ้งย่อยสลายได้  ผลิตภัณฑ์ซองไปรษณีย์พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าจากสารลดแรงตึงผิวที่ได้จากน้ำตาล และวัสดุกระจายกลิ่นหอมปรับอากาศที่ได้จากดินเซรามิกและเถ้าชานอ้อย ซึ่งทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้มีการเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้วัสดุทางชีวภาพจากอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาภายใต้โครงการฯในครั้งนี้ สถาบันพลาสติกพร้อมเป็นส่วนหนึ่งให้กับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ในการพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรม การคอมพาวด์พลาสติก การสร้างวัสดุให้ตอบโจทย์แนวคิด BCG Model สามารถนำไปใช้ในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถติดตามข้อมูลอันเป็นประโยชน์ได้ที่

Website > https://www.thaiplastics.org/

Facebook : Plastics Institute of Thailand - สถาบันพลาสติก

Line : @Thaiplastics

Youtube Official : Thaiplastics

Tel: 02-391-5340-43 ต่อ 421

ดาวน์โหลด