สถาบันพลาสติกร่วมยัน ขวดน้ำตากแดดเสี่ยงมะเร็งเรื่องลวง!

สถาบันพลาสติกร่วมยัน ขวดน้ำตากแดดเสี่ยงมะเร็งไม่ใช่เรื่องจริง ระบุสารที่ใช้ในการผลิตพลาสติกเป็นคนละตัวกับข่าวลวงที่เผยแพร่ แต่ให้ระวังอย่ายกซดเข้าปากโดยตรง เหตุเชื้อจุลินทรีย์จากปากอาจเข้าไปเพิ่มปริมาณในน้ำ ด้านผู้เชี่ยวชาญโภชนวิทยาฯ เตือนควรใส่ใจเรื่องบรรจุภัณฑ์ ปิดมิดชิด วันเดือนปีผลิตมากกว่า

นายคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศและกลยุทธ์อุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก กล่าวถึงกรณีการส่งต่อข้อความเตือนทางโลกออนไลน์ให้ระวังการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกใส อาจมีสารก่อมะเร็ง เมื่อใช้ซ้ำหลายครั้ง หรือเก็บไว้ในรถที่จอดตากแดด ว่า กระบวนการผลิตมีการนำพลาสติก Polyethylene terephthalate มาใช้ ชื่อสาร คือ “Phthalates” ซึ่งไม่มีอันตราย แต่ข่าวที่เผยแพร่ออกไป มักบอกว่า เป็นสาร “Plasticizers” ที่ชื่อคล้ายกันและก่อให้เกิดอันตรายได้หากได้รับปริมาณมาก จึงถือเป็นเรื่องความเข้าใจผิดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีการทดสอบเพื่อตรวจวัดอันตราย โดย อย. ประเทศสหรัฐฯ พบว่า เรื่องสารชนิดต่างๆ ที่สามารถซึมผ่านเข้าสู่น้ำดื่มได้ต่ำกว่าค่าที่อนุญาต 100 - 1,000 เท่า และหากเก็บขวด PET ในรถที่ร้อนหรือในช่องแช่แข็ง ก็พบว่าสารชนิดต่างๆ ที่ซึมผ่านก็ยังอยู่ในค่าที่ต่ำกว่าค่าที่กำหนดเช่นกัน

“น้ำดื่มในขวด PET ถือว่ามีความปลอดภัย แต่หากเปิดขวดบริโภคแล้ว การใช้ปากดื่มจากขวด จะทำให้จุลินทรีย์จากปากเข้าไปเพิ่มปริมาณในน้ำ โดยเฉพาะหากเก็บไว้ในอุณหภูมิสูงก็จะยิ่งเพิ่มตัวอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน” นายคงศักดิ์ กล่าว

นพ.ฆนัท ครุธกูล เครือข่ายคนไทยไร้พุง และผู้เชี่ยวชาญทางด้านโภชนวิทยาคลินิก รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทพลาสติก ปัจจุบันมีการควบคุมมาตรฐานอย่างเคร่งครัด และมีการตรวจสอบอยู่เป็นระยะ เมื่อพบว่ามีปัญหา เช่น กรณีสารในขวดนม ก็จะมีการถอดออกจากตลาดเป็นระยะ หากเลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องก็ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ การเชื่อข่าวสารที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตควรเชื่อถือจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังพบว่า ข่าวสารในอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 80-90 มักไม่ถูกต้องและหวังผลทางการค้า อย่างไรก็ตาม ในแง่ความปลอดภัยผู้บริโภคควรสังเกตในเรื่อง บรรจุภัณฑ์ที่สะอาด ปิดมิดชิด วันเดือนปีที่ผลิต มากกว่า
 

ขอบคุณข่าวจาก

http://m.manager.co.th/QOL/detail/9570000061681

ดาวน์โหลด